ข้อดีของการเรียนการสอนแบบ E-Learning

พ.ต.ท. หญิง ดร. ศิริวรรณ  อนันต์โท


 

ข้อดีของการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เห็นได้ชัดคือ  ช่วยลดข้อจำกัดด้านระยะทางระหว่างผู้สอนและผู้เรียน  เช่น การสอนทางไกลโดยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  และอาจใช้เทปบันทึกเสียงหรือวีดิทัศน์ช่วยแก้ปัญหากรณีที่ผู้เรียนและผู้สอนว่างไม่ตรงกัน  ซึ่งเป็นการช่วยลดช่องว่าทางการศึกษาได้ทางหนึ่ง   สำหรับข้อดีของการเรียนการสอนผ่านเว็บ   ซึ่งถือว่าเป็นแกนหลักของ E-Learning ในความหมายปัจจุบัน  เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบเดิมๆแล้ว  สามารถอธิบายได้หลายประเด็นดังนี้[1]

          1.   ความยืดหยุ่นและความสะดวก (Flexibility and Convenience)

ผู้เรียน E-Learning สามารถเข้าถึงเนื้อหาหลักสูตร ณ เวลาและสถานที่ใดก็ได้ตามแต่ความสะดวก   ซึ่งเป็นการขจัดข้อจำกัดทางกายภาพที่เกิดจากการเรียนในห้องเรียนแบบเดิม  การเรียนผ่านเว็บสามารถเรียนได้จากที่บ้าน  ที่ทำงาน  หรือที่สถานศึกษาตามความสะดวกของผู้เรียน  เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการใช้ห้องเรียนด้วย[2]

                 2.   เรียนได้ทันใจตามต้องการ (Just-in-time Learning)

นักเรียนสามารถเรียนผ่านเว็บได้ทุกขณะที่ต้องการ  การเรียนแบบ E-Learning จึงสามารถชักจูงใจและทำให้ผู้เรียน

เรียนได้เป็นเวลานานโดยไม่เบื่อ   ผู้เรียนสามารถค้นหาและเข้าถึงความรู้ใหม่ๆได้ทันเวลาและความต้องการ   เนื้อหา

บนเว็บที่ถูกสร้างและปรับปรุงขึ้นใหม่ทุกขณะ  ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและนำไปใช้ได้อย่างทัน

เหตุการณ์[3]

          3.  ผู้เรียนเป็นฝ่ายควบคุม (Learner control)

ในสภาพการเรียนการสอนผ่านเว็บ  ผู้เรียนจะมีเสรีภาพในการค้นคว้าและเรียนรู้สิ่งที่ตนสนใจ  ซึ่งบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหวังของผู้สอน   ผู้เรียนสามารถตัดสินใจเรื่องจังหวะการเรียนและประเด็นสำคัญของเนื้อหาการเรียน   จึงทำให้เส้นทางของการเรียนแบบ E-Learningของนักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันตามความต้องการของตน   ถ้าผู้เรียนมีวินัยในตนเอง  มีเป้าหมาย  และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของเว็บ  จึงจะทำให้ผู้เรียนควบคุมการเรียนผ่านเว็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ[4]

         4.  รูปแบบมัลติมีเดีย (Multimedia Format)

เวิลด์ ไวด์ เว็บ  ช่วยให้การนำเสนอเนื้อหามีรูปแบบที่หลากหลาย  รวมทั้งตัวอักษร เสียง  วิดีทัศน์  และการติดต่อสื่อสาร ณ เวลาจริง  คุณสมบัตินี้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกรูปแบบการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพต่อการเรียนของคนมากที่สุด  และครูผู้สอนก็สามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับหลักสูตรมากที่สุดได้[5]

          5.  แหล่งทรัพยากรข้อมูล (Information Resource)

 มีปัจจัย 2 ประการที่ทำให้เว็บเป็นแหล่งทรัพยากรทางข้อมูลที่สำคัญ  ประการแรกคือ ทุกวันนี้มีข้อมูลที่หลากหลายจำนวนมหาศาลอยู่บนเว็บ  ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากแหล่งการศึกษา  ธุรกิจหรือจากภาครัฐทั่วโลก[6]  ปัจจัยประการที่ 2 คือ รูปแบบ “hypertext” ของเวิลด์ ไวด์ เว็บ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถคลิกเชื่อมไปสู่เว็บอื่นได้   นักเรียนจึงสามารถก้าวผ่านห้องเรียนออกไปสู่แหล่งข้อมูลภายนอกได้ง่ายดาย  โดยการเรียนผ่านเว็บนี่เอง

          6.  ความทันสมัย (Currency)

เนื้อหาที่ใช้ในการเรียนบนเว็บนั้นสามารถปรับปรุงให้ทันสมัยได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือเรียน  จึงทำให้ครูสามารถนำเสนอข้อมูลที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่มีอยู่ให้แก่ผู้เรียน[7]

         7.  ช่วยเผยแพร่ผลงาน (Publishing Capabilities)

นักเรียนที่ส่งงานไว้บนเว็บ  ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้เผยแพร่ผลงานของตนเองออกสู่สาธารณะ   เว็บเป็นแหล่งประกาศผลงานที่ดีเลิศ  เพราะคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่   และผู้เรียนก็มีโอกาสได้เห็นผลงานของผู้อื่นบนเว็บด้วยเช่นกัน[8]

         8.   เพิ่มทักษะทางเทคโนโลยี (Increase Technology Skills)

การเรียนผ่านเว็บทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและเพิ่มพูนความสามารถในการใช้เทคโนโลยียิ่งขึ้นโดยลำดับ  เพราะนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ  และฝึกฝนทักษะได้จากเทคโนโลยีอันหลากหลาย[9]

จากข้อดีของการเรียนการสอนผ่านเว็บดังได้กล่าวมาข้างต้น  ได้เคยมีการศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ของการเรียนผ่านเว็บในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย North Carolina State University (NCSU)   เมื่อฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.. 1997   NCSU ได้ทำการวิเคราะห์หลักสูตรจำนวน 29 วิชาที่สอนผ่านเว็บทั้งในระดับปริญญาตรีและสูงกว่า  โดยเปรียบเทียบกับการสอนธรรมดาในห้องเรียนด้วยอาจารย์คนเดียวกัน จำนวนนักเรียนทั้งสิ้นในการศึกษาครั้งนี้มี 1,278 คน   ผลการศึกษาพบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างผลการเรียนของผู้เรียนทั้งสองรูปแบบเลย[10]

ก่อนหน้านี้  มีการศึกษาเกี่ยวกับการสอนออนไลน์ที่  Cuyahoga Community College เมือง Cleveland รัฐ Ohio และ ที่  New Jersey Institute of Technology รัฐ New Jersey ประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งก็ได้ผลการศึกษาเช่นเดียวกัน  จึงสรุปได้ว่าการเรียนผ่านเว็บหรือ WBI สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้เท่ากับการเรียนในชั้นเรียน   รูปแบบการเรียนและเครื่องมือการสื่อสารที่ใช้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะทำให้การเรียนประสบผลสำเร็จได้เท่ากับการสอนที่มีการออกแบบและการถ่ายทอดที่ดี[11]

ข้อดีของการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะ Web-Based Instruction และ E-Learning นั้น  มีผู้สนับสนุนอยู่ไม่น้อยทีเดียว   . ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่า E-Learning เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความเหมาะสมสำหรับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศเพื่อการแข่งขันในโลกยุคใหม่   ด้วยเหตุผลต่อไปนี้[12]

  • การขยายโอกาสทางการศึกษา

การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีต้นทุนในการจัดการศึกษาที่ต่ำกว่าการศึกษาในชั้นเรียนถึงแม้ว่าเงินทุนในช่วงแรกหรือต้นทุนคงที่ (fixed cost) ของการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะค่อนข้างสูง แต่ E-Learning จะสามารถตอบสนองต่อผู้เรียนได้มากกว่าการจัดการศึกษาในห้องเรียน โดยที่ผู้จัดการศึกษามีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหน่วยสุดท้าย (marginal cost) เกือบเป็นศูนย์ แม้ว่าจะมีการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนจำนวนมากขึ้นก็ตาม  ทั้งนี้  หากเปรียบเทียบต้นทุนทั้งหมด (total cost) แล้ว   การจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการเรียนรู้ในชั้นเรียนถึงร้อยละ 40

นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาและทุกคน (anywhere anytime anyone)  และไม่ว่าจะทำการศึกษา ณ สถานที่ใด   การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะยังคงมีเนื้อหาเหมือนกันและมีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน  และยังสามารถวัดผลของการเรียนรู้ได้ดีกว่า  การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำให้โอกาสในการศึกษาของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น  ส่งผลทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะที่สูงขึ้น  ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีเข้มข้นมากขึ้น

  • การพัฒนาตามศักยภาพและความสนใจของผู้เรียน

การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เรียนมีเสรีภาพในการเลือกเนื้อหาสาระของการเรียนรู้ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบของหลักสูตร ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองได้ (self-pace learning) ตามความสนใจและความถนัดของตน  ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับที่ถูกกำหนดหรือเป็นโปรแกรมแบบเส้นตรง   แต่ผู้เรียนสามารถข้ามขั้นตอนที่ตนเองได้ตามใจปรารถนา การเรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจของผู้เรียน   ทำให้ประชาชนในประเทศเกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นในการแข่งขันในเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy)

การที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งที่รวมความรู้จำนวนมหาศาล ผู้เรียนจึงมีช่องทางและวิธีการเรียนรู้ให้เลือกอย่างหลากหลาย ผู้เรียนสามารถเลือกสื่อการเรียนการสอนได้ตามความถนัดและความสนใจทั้งในรูปแบบของตัวอักษร รูปภาพ ภาพสร้างสรรค์จำลอง (animations)  สถานการณ์จำลอง (simulations)  เสียงและภาพเคลื่อนไหว (audio and video sequences) กลุ่มอภิปราย (peer and expert discussion groups) และการปรึกษาออนไลน์ (online mentoring)

ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จึงทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ซึ่งมากกว่าการเรียนรู้โดยการฟังการบรรยายในห้องเรียน หรือจากอ่านหนังสือ และทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้นถึงร้อยละ 60 ของการเรียนรู้แบบดั้งเดิม

. ดร. เกรียงศักดิ์มีความเห็นว่า   ประสิทธิภาพและความรวดเร็วของการเรียนรู้มีความสำคัญมากสำหรับการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต  เพราจะทำให้คน องค์การ และประเทศสามารถปรับตัวและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา  และทำให้เกิดความรวดเร็วในการช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงานได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

  • การสร้างความสามารถในการหาความรู้ด้วยตนเอง

E-Learning ไม่ได้เป็นเพียงการเรียนโดยการรับความรู้หรือการ "เรียนรู้อะไร" เท่านั้น  แต่เป็นการเรียน วิธีการเรียนรู้”  หรือ "เรียนอย่างไร ดังนั้น  ผู้เรียนในระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะเป็นคนที่มีความสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง  เนื่องจาก E-Learning ไม่มีผู้สอนที่คอยป้อนความรู้ให้เหมือนกับการศึกษาในห้องเรียน    ผู้เรียนจึงได้รับการฝึกฝนทักษะในการค้นคว้าข้อมูล  การเรียนรู้วิธีการเข้าถึงแหล่งความรู้  การเลือกวิธีการเรียนรู้  และวิธีการประมวลความรู้ด้วยตนเอง   ทั้งนี้  ถ้าคนมีความสามารถในการเรียนรู้  ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาอาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง    ซึ่งหากประเทศชาติมีประชาชนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่   จะทำให้เกิดผลดีต่อประเทศในแง่ของการสร้างองค์ความรู้ของคนไทย และการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง

  • การพัฒนาความสามารถในการคิด

การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทางความคิดได้มากกว่าการฟังการบรรยายในห้องเรียน   เนื่องจากเป็นการสื่อสารแบบสองทางและมีรูปแบบของการเรียนรู้ที่หลากหลาย   การศึกษาทางไกล (distance learning) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะกระตุ้นและเอื้อให้เกิดการวิพากษ์อย่างมีเหตุผล (critical reasoning) มากกว่าการศึกษาในห้องเรียนแบบเดิม  เพราะจะมีการปฏิสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง

นอกจากนี้  ยังมีการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่านักศึกษาทางไกลระบบออนไลน์ (online students) ได้มีการติดต่อกับผู้เรียนคนอื่น ๆ ในชั้นเรียนมากกว่า   เรียนรู้ด้วยความสนุกมากกว่า   ให้เวลาในการทำงานในชั้นเรียนมากกว่า   มีความเข้าใจสื่อการสอนและการปฏิบัติมากกว่าผู้เรียนที่ได้รับการสอนในชั้นเรียนแบบเดิมโดยเฉลี่ยร้อยละ 20   E-Learning ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้จำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการต่อยอดความรู้ หรือทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ และการสร้างนวัตกรรมอันเป็นปัจจัยในการแข่งขันที่สำคัญมากที่สุดในการแข่งขันในเศรษฐกิจยุคใหม่ทีเดียว

 


[1] University of North Carolina. (1998). Benefits and Limitations of WBI.[On-line]. Accessed June 20, 2003. Available: http://www.soe.unc.edu/edci111/8-98/uses/usescont.html#Benefits%20and%20 Limitations%20of% 20WBIvs%20traditional.

[2] Hall, Brandon. (1997). FAQ for web-based training. Multimedia and Training Newsletter. [On-Line]. Accessed June 1, 2003. Available: http://www.brandon-hall.com/faq.html.

[3] Kahn, Badrul. (1997). Web-Based instruction (WBI): What is it and why is it? Web-Based Instruction. Educational Technology Publications: Englewood Cliffs, New Jersey.

[4] Ellis, Rick. (1997). Effective Use of the Web for Education Design in Principles and Pedagogy. [On-Line]. Accessed April 10, 2003. Available: http://weber.u.washington.edu/~rells/workshops/design.

[5] Kahn, Badrul. (1997). Ibid.

[6] McManus, T.F. (1996). Delivering Instruction on the World Wide Web. [On-Line]. Accessed June 20, 2003. Available: http://ccwf.utexas.edu/~mcmanus/wbi.html.

[7] Kahn, Badrul. (1997). Ibid.

[8] Hannum, W. (1998). Web Based Instruction Lessons. [On-Line]. Accessed June 20, 2003. Available: http://www. soe.unc.edu/edci111/8-98/index_wbi2.htm.

[9] Hannum, W. (1998). Ibid.

[10] University of North Carolina. (1998). Research on the Effectiveness of WBI. [On-line]. Accessed June 20, 2003. Available: http://www.soe.unc.edu/edci111/8-98/uses/usescont.html#Reserach% 20on%20effectiveness%20of %20 WBI.

[11] University of North Carolina. (1998). Ibid.

[12] ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์.  "e-learning : ยุทธศาสตร์การเรียน."  Ecomomy. ปีที่ 1 ฉบับที่ 26 (16-30 .. 2544) หน้า 43

 

  E-mail: telethailand@yahoo.com


© 2003 TeleThailand

Last revised: 28/11/2003

setstats 1