|
|
ความหมายของ
E-Learning พ.ต.ท. หญิง ดร. ศิริวรรณ อนันต์โท |
|
ความหมายของ E-Learning ได้ถูกอธิบายไว้อย่างหลากหลาย ดังต่อไปนี้ โครงการการเรียนรู้แบบออนไลน์แห่ง สวทช. ได้ให้คำนิยามไว้ว่า E-Learning หมายถึงการศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต หรืออินทราเน็ต เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน โดยเนื้อหาของบทเรียนซึ่งประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Browser โดยผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย (e-mail, web-board, chat) จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคน เรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ (Learning for all : anyone, anywhere and anytime) [1] ผศ. ดร. ถนอมพร เลาหจรัสแสง ได้ให้ความหมายของ E-Learning ไว้ในหนังสือ Designing E-leaning : หลักการออกแบบและการสร้างเว็บเพื่อการเรียนการสอน ว่าความหมายของ E-Learning สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่ ความหมายโดยทั่วไปและความหมายเฉพาะเจาะจง
ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ ได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Learning ว่า หมายถึงการเรียนรู้บนฐานเทคโนโลยี ซึ่งครอบคลุมวิธีการเรียนรู้จากหลายรูปแบบ อาทิ การเรียนรู้บนคอมพิวเตอร์ (Computer-Based Learning) การเรียนรู้บนเว็บ (Web-Based Learning) ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classrooms) และความร่วมมือกันผ่านระบบดิจิตัล (Digital Collaboration) เป็นต้น ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท อาทิ อินเทอร์เน็ต (Internet) อินทราเน็ต (Intranet) เอ็กซ์ทราเน็ต (Extranet) การถ่ายทอดผ่านดาวเทียม (satellite boardcast) ผ่านแถบบันทึกเสียงและวิดีทัศน์ (audio / video tape) โทรทัศน์ที่สามารถโต้ตอบกันได้ (Interactive TV) และซีดีรอม (CD-ROM) [3] เกียรติศักดิ์ อนุธรรม ได้ให้ความหมายของ E-Learning ว่าแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล แต่ก็ยังมีส่วนที่เหมือนกันอยู่คือ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ในการศึกษา โดยมีพัฒนาการไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ต ครอบคลุมการเรียนในหลายรูปแบบทั้งการเรียนทางไกลและการเรียนผ่านเครือข่าย[4] สยาม ลิขิตเลิศ ได้ให้ความหมายของการเรียนรูปแบบออนไลน์ หรือ E-Learning ว่าเป็นการศึกษาและเรียนรู้ผ่านระบบเครื่องมือที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นซีดีรอม เว็บ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือ อินทราเน็ต เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน โดยเนื้อหาบทเรียนซึ่งประกอบด้วยข้อความ รูปภาพ เสียง วีดิทัศน์ และมัลติมีเดียอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยที่ผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนสามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย เช่น (chat, e-mail, web board) จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคนเรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่[5] รศ. ยืน ภู่วรวรรณ ได้ให้คำนิยามสั้น ๆ ว่า E-Learning คือการเรียนผ่านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ต้นทุนถูก เรียนรู้ได้เร็วได้มาก สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง และที่สำคัญคือ ทำให้มีการพัฒนารูปแบบของการศึกษา การเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ๆ ออกมามากมาย[6] รศ. ดร. สฤษดิ์พงษ์ ลิมปิษเฐียร ได้ให้ความหมายของคำว่า E-Learning ว่า E ย่อมาจาก electronic ส่วน L ย่อมาจาก learning ก็คือการเรียนรู้ ดังนั้น E-Learning จึงเป็นระบบการเรียนรู้หรือระบบการเรียนการสอนที่อาศัยสื่อ electronic เข้ามาช่วยเพื่อที่จะให้เกิดการเรียนรู้ ปัจจุบันเราต้องการที่จะให้มีการเรียนรู้เกิดขึ้นกว้างขวาง รวดเร็ว ประหยัด ซึ่งตรงนี้สื่อ electronic หรือปัจจุบันเรียกว่า ICT (Information and Communication Technology) จะสามารถให้การจัดการเรียนการสอนมีต้นทุนต่ำลง ทำได้กว้างขวางขึ้น ICT เป็นเทคโนโลยีที่สามารถที่จะบูรณาการสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เราเคยใช้เข้ามาสู่ระบบเพียงระบบเดียว ด้วยความสามารถของ ICT รวมทุกสิ่งทุกอย่างมาไว้ในคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว โดยอาศัยสื่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้น จึงต้องการเน้นไปที่การบูรณาการมากกว่าคือ ระบบการเรียนการสอนที่อาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยเข้าสู่ระบบเพียงระบบเดียว[7] ผศ. ดร. ปัทมาพร เย็นบำรุง ให้ความหมายของ E-Learning ว่าหมายถึง ระบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เราได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบโทรคมนาคม คือ ICT มาช่วยในการบูรณาการเนื้อหาความรู้ซึ่งอยู่ในสื่ออื่น ๆ ที่เป็น electronic หรือในรูปของหนังสือ ทั้งหมดนี้นำมาอยู่ในรูปเดียวกัน ให้สอนผ่านคอมพิวเตอร์ โดยที่ให้การเรียนรู้นี้ใช้ต้นทุนที่ต่ำ ไปได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ[8] มนต์ชัย สันติเวส ได้ให้ความหมายของ E-Learning ว่าเป็นการเรียนการสอนคล้ายรูปแบบเดิม ๆ เพียงแต่นำคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ระบบเครือข่ายทั้งหลาย รวมไปถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งหลายมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเรียน การวัดผล และการจัดการกับการศึกษาทั้งหมดที่ไม่ใช้วิธีแบบเดิมอีกต่อไป คำว่า E-Learning ย่อมาจากคำว่า electronics(s) learning คือ การเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือหมายถึง computer learning คือ การเรียนรู้ทางคอมพิวเตอร์หรือจะเรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบใหม่โดยใช้คอมพิวเตอร์ก็ว่าได้ ลักษณะของ E-Learning เป็นการเรียนบนระบบออนไลน์ คือ ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทำให้การเรียนการสอนแบบ E-Learning เป็นการเรียนที่สามารถโต้ตอบกันได้เหมือนการเรียนแบบเดิม ๆ แต่ยังสามารถใช้เทคโนโลยีที่เป็นลักษณะมัลติมีเดียซึ่งได้แก่ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหวมาใช้นำเสนอทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจกว่าตัวหนังสือล้วน ๆ บนกระดาษ คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของการเรียนแบบ E-Learning คือ ผู้เรียนและผู้สอนไม่ต้องมาพบกัน และไม่ต้องเดินทางให้เสียเวลา เพียงแต่ครูและนักเรียนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถเชื่อมต่อเข้าไปในโลกของอินเทอร์เน็ต และทำการเรียนการสอนกันได้ ดังนั้น การเรียนแบบ E-Learning ก็จะเป็นการศึกษาแบบไร้ขอบเขต สามารถที่จะทำกิจกรรมบนห้องเรียนแบบออนไลน์ได้ และจะเป็นที่นิยมเพราะว่าไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ระยะทาง สถานที่ นอกจากนั้นยังสามารถตอบสนองต่อศักยภาพและความสามารถของผู้เรียนได้ดีอีกด้วย[9] ดร. ชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์ ได้ให้ความหมายของคำว่า E-Learning หรือ Electronic Learning ในปัจจุบันค่อนข้างแตกต่างกันออกไปตามแหล่งที่มาและการนำไปใช้ แต่กล่าวโดยทั่วๆไปแล้ว E-Learning หมายถึง รูปแบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ มีวัตถุประสงค์ที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้องค์ความรู้ (Knowledge) ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ (Anywhere – Anytime Learning) เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาที่เรียนนั้น ๆ การนำระบบ E-Learning มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการสอนสูงสุดนั้น ผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจว่า รูปแบบการเรียนการสอน E-Learning นี้แตกต่างจากระบบการเรียนการสอนในรูปแบบปกติที่เรียกกันว่า face-to-face หรือ traditional classroom learning อย่างไร และจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรับปรุงเรื่องเนื้อหา เทคโนโลยี เทคนิคการนำเสนอและการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ การนำระบบ E-Learning เข้ามาใช้ และต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่า คุณภาพการเรียนรู้ของระบบ E-Learning ต้องไม่ด้อยไปกว่าคุณภาพการเรียนรู้ในรูปแบบปกติ[10] ศักดา ไชยกิจภิญโญ ได้ให้ความหมายของ E-Learning ว่า เป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งสื่อการเรียนการสอนรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ใน E-Learning ประกอบด้วย E-Book เป็นสื่อสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบของเอกสารหรือหนังสือ Virtual Lab เป็นสื่อที่สร้างคล้ายห้องปฏิบัติการที่ผู้เรียนสามารถเข้ามาทำการทดลอง (ในสถาน การณ์จำลอง) ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ Virtual Classroom เป็นสื่อที่สร้างให้เป็นห้องเรียนเสมือน โดยใช้กระดานข่าว (web board) กระดานคุย (chat) หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เพื่อติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Web Based Instruction เป็นสื่อที่สร้างเหมือนโฮมเพจหรือเว็บเพจ แต่เนื้อหาเป็นบทเรียนที่ใช้ในการเรียน การสอน และมักมีการประเมินผลผู้เรียนด้วย E-library เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้บริการผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การสืบค้นผลงานวิจัยในรูปแบบบทคัดย่อหรือบางครั้งเป็นผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์พร้อมให้ดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้ได้ด้วย เป็นต้น[11] ความหมายของ E-Learning นั้น ถูกตีความไปอย่างกว้างขวาง ไม่ได้จำกัดถึงการเรียนผ่านดาวเทียมหรืออินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงการเรียนการสอนที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นซีดีรอม ฮาร์ดดิสก์ ฟลอปปี้ดิสก์ เน็ตเวิร์ก อินทราเน็ต อินเทอร์เน็ตหรือแม้แต่วิทยุโทรทัศน์ตามบ้านก็ตาม[12] ผู้เขียนเห็นว่า การแปลความหมายตามตัวอักษรทำให้ E-Learning มีขอบเขตที่กว้างขวางกว่า แต่ในความหมายยอดนิยมนั้น เรามักเข้าใจกันว่า E-Learning เป็นกระบวนการการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ต (Web-Based Learning) ดังนั้น จึงสมควรมีการกำหนดความหมายและขอบเขตของ E-Learning ให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการกล่าวถึงรายละเอียดทุกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันทุกฝ่าย 1โครงการการเรียนรู้แบบออนไลน์แห่ง สวทช. ทำความรู้จักกับ e-Learning กันเถอะ. [On-line]. Accessed April 17, 2003. Available: http://www.thai2learn.com/elearning/index.php. [2] ดร. ถนอมพร เลาหจรัสแสง. .Designing E-leaning : หลักการออกแบบและการสร้างเว็บเพื่อการเรียนการสอน. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. หน้า 4-5. 3 ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์. "e-learning : ยุทธศาสตร์การเรียน." Ecomomy. ปีที่ 1 ฉบับที่ 26 (16-30 พ.ย. 2544) หน้า 43. [4] บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์. "e-learning : การเรียนรู้ในสังคมแห่งการเรียนรู้." วารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 หน้า 7-15. [5] สยาม ลิขิตเลิศ. “E-learning พร้อมหรือยังกับการศึกษาไทย.” เทคโนฯ-ทับแก้ว ปีที่ 5 ฉบับที่ 7 (ก.ย.-ต.ค.45) หน้า 96-102. [6] ยืน ภู่วรวรรณ. การอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง E-Learning มิติใหม่แห่งการเรียนรู้. ณ อาคารวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 25 กรกฎาคม 2544. [7] ดร. สฤษดิ์พงษ์ ลิมปิษเฐียร. การอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง E-Learning มิติใหม่แห่งการเรียนรู้. ณ อาคารวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 25 กรกฎาคม 2544. [8] ปัทมาพร เย็นบำรุง. การอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง E-Learning มิติใหม่แห่งการเรียนรู้. ณ อาคารวิทยทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 25 กรกฎาคม 2544. [9] มนต์ชัย สันติเวส. “E-Learning.” วารสารนักบริหาร. ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.45) หน้า 61-65. [10] ดร. ชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์. “e-learrning.” DMV. ปีที่ 3 ฉบับที่ 12 (ม.ค.-ก.พ.45) หน้า 26-28. [11] ศักดา ไชยกิจภิญโญ. “การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ E-Learning.” วารสารส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอน . ปีที่ 11 [12] "eLearning เรียนอะไร เมื่อไหร่ จากที่ไหนดี." ข่าวสารสนเทศ . 61 (มิ.ย.-ก.ค. 2544) หน้า 3-5. . |
|
|
© 2003 TeleThailand |
Last revised: 27/11/2003 |